ผลกระทบต่อการศึกษาไทยจากโรคระบาดโควิด-19
การกลับมาระบาดของโควิด-19 ดูจะยิ่งทวีความรุนแรงมากกว่าครั้งแรกหลายเท่าและสิ่งที่ส่งผลกระทบเป็นอันดับต้นๆนั่นคือ การศึกษาของเด็กไทย ส่งผลให้นักเรียนไทยกว่า 15 ล้านคนต้องหยุดเรียนไปการขาดเรียนสะสมก็ย่อมส่งผลกระทบต่อตัวนักเรียนในระยะยาว และเมื่อถึงเวลานั้น ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมถึงทุกหน่วยงานของไทยจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นกับเยาวชนของชาติเหล่านี้ไม่เช่นนั้นแล้วประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างมหาศาลในอนาคต
โรคโควิด-19 ถือนับเป็นวิกฤติที่ทั่วโลกต่างเผชิญอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลทุกประเทศพึงรับฟังมุมมองและความคิดเห็นของบุคลากรทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเป็นสำคัญในการรับมือ และเตรียมมาตรการลดการแพร่ระบาดในกลุ่มประชาชนได้อย่างรัดกุมและเหมาะสม ซึ่งบางครั้งบางมาตรการอาจสร้างผลกระทบต่อสังคมในด้านอื่นๆ อาทิผลกระทบต่อระบบการศึกษาซึ่งอาจกลายเป็นหนึ่งในวิกฤติที่ร้ายแรงที่สุดต่อจากนี้ก็เป็นได้ หากกลับมาพิจารณาว่าอะไรคือผลกระทบที่จะต้องได้รับการจัดการให้ทันกาล มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียจึงได้ทำการวิเคราะห์และสรุปเป็นประเด็นที่สำคัญ 3 ประการดังนี้
1) ความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมทางการศึกษาที่อาจเพิ่มมากขึ้น – เราทุกคนสังเกตุเห็นว่าความเหลื่อมล้ำและโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพนับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย ช่องว่างระหว่างโอกาสเข้าถึงการศึกษา และความพร้อมทางด้านอุปกรณ์รองรับการเรียนเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน เห็นได้จากนักเรียนในโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนรัฐที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพ ฯ สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนผ่านทางระบบออนไลน์หรืออีเลิร์นนิ่ง (E-Learning) อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ในขณะที่มีนักเรียนไทยอีกหลายล้านคน โดยเฉพาะเด็กในโรงเรียนขยายโอกาส ที่ผู้ปกครองของพวกเขายากจน กลับที่ไม่มีเงินที่จะซื้อคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คเพื่อเรียนหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ได้
ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลากกิจการต่างเลิกกิจการและลดตำแหน่งงาน อาจทำให้ผู้ปกครองของนักเรียนกลุ่มนี้ ต้องถูกเลิกจ้างหรือไม่มีงานประจำที่มั่นคงนี้ก็จะยิ่งสร้างความลำบากต่อสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขายิ่งขึ้น ยิ่งการแพร่ระบาดครั้งนี้ใช้เวลานานมากเท่าไร ก็จะยิ่งสร้างช่องว่างของความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาให้ขยายกว้างยิ่งขึ้นเท่านั้น
2) ประสิทธิภาพของการเรียนการสอนที่ยังมีไม่พอเพียง เราต้องยอมรับว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร เราอาจไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตเฉกเช่นปกติได้อย่างที่หวัง เช่นเมื่อครูไม่สามารถดำเนินการสอนด้วยตนเองในห้องเรียนได้อย่างที่ควรจะเป็น ผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษาจึงต้องพิจารณาช่องทางการเรียนรู้อื่นๆ ทดแทนแต่น่าเสียดายที่ประสิทธิภาพของระบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ หรืออีเลิร์นนิ่ง (E-Learning) ของเรายังไม่เพียงพอ มีครูเพียงไม่กี่ท่านที่ได้รับการฝึกอบรมเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน อีกทั้งนักเรียนจำนวนมากยังขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนผ่านระบบเทคโนโลยีที่จำเป็นโดยเฉพาะนักเรียนในพื้นที่ชนบท แม้ว่าขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการกำลังพิจารณาหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยมีแนวคิดที่จะมอบแท็บเล็ตให้กับครูและนักเรียนที่มีความจำ แต่นั้นก็อาจไม่อเพราะการมอบแท็บเล็ต ก็อาจไม่ช่วยให้การสอนมีประสิทธิภาพเท่าที่หวังไว้ เพราะหากครูไม่ได้รับการอบรมหรือไม่มีประสบการณ์ในชั้นเรียนออนไลน์มาก่อนก็ไม่เข้าใจว่าเมื่อนักเรียนเรียนออนไลน์จะรู้สึกอย่างไร ขาดเทคนิคในการติดตามการเรียนรู้แบบออนไลน์ ทั้งยังยึดถือรูปแบบการเรียนแบบท่องจำ อุปกรณ์แท็บเล็ตอาจจะทำหน้าที่ได้เพียงทดแทนกระดานดำ หากครูยังเน้นการสอนโดยการบรรยายนานๆ และไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับชั้นเรียน นักเรียนก็จะขาดโอกาสฝึกฝนปฎิบัติ หรือลงมือค้นหาคำตอบได้ด้วยตนเอง รวมทั้งอาจจะขาดการเรียนรู้เทคโนโลยีจากตัวอุปกรณ์แท็บเล็ตที่ตนเองมีโอกาสครอบครอง การเรียนรู้แบบนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่ายเท่านั้น หากแต่ยังไม่ส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ของนักเรียนอีกด้วย
3) ระบบส่งเสริมและสนับสนุนการสอนออนไลน์ของครูยังไม่เพียงพอ – เราทุกคนตระหนักดีว่าครูคือแม่พิมพ์ของชาติผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการพัฒนาบุคลากรมนุษย์สำหรับสร้างอนาคตของชาติ แม้พวกท่านจะมีรายได้ที่ไม่มากนัก หากแต่ก็มีความมุ่งมั่นและอยากมีส่วนร่วมที่สำคัญที่ได้ช่วยสร้างคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังจะเห็นจากเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้ ครูไทยจำนวนไม่น้อยที่ออกเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามความเป็นอยู่ของนักเรียนตน เพื่อประเมินความพร้อมในการเรียนวิถีใหม่ แต่อย่างไรก็ตามครูหลายท่านยังรู้สึกว่าพวกเขายังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในด้านวิชาการ การปรับกระบวนการเรียนการสอน หลากครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหรือประกาศแบบเร่งด่วนแต่ยังไม่ได้รับการชี้แจงหรือแจ้งนโยบายที่แน่ชัดจากผู้อำนวยการโรงเรียนที่ตนเองสังกัด ก็อาจทำให้ครูเกิดความสับสนและไม่แน่ใจว่าจะเริ่มต้นวิธีการสอนผ่านระบบออนไลน์อย่างไร รวมถึงการติดตามความก้าวหน้าการเรียนรู้และประเมินผลสัมฤทธิ์การศึกษาว่าจะปรับเปลี่ยนอย่างไร รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ลำบาก เป็นต้น
ทุกวิกฤติมีโอกาสสำหรับการเปลี่ยนแปลง
การหยุดชะงักในครั้งนี้ทำให้เรามีเวลาหันกลับมาพิจารณามองหาโอกาสที่จะสร้างระบบการศึกษาของไทยให้มีคุณภาพ การเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาที่เน้นท่องจำอันล้าสมัย นับเป็นข้อจำกัดสำหรับการพัฒนาของนักเรียนไทยมายาวนานหลายทศวรรษ ภายใต้วิกฤติที่เรากำลังเผชิญเราสามารถเลือกที่จะใช้วิธีการแบบดั้งเดิม หรือนำวิธีการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มาใช้ โดยช่วยให้ครูทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนที่เน้นผลลัพธ์ขั้นสูง (High-impact Learning) เพื่อที่จะได้กลับมาถ่ายทอดสู่นักเรียนผู้เป็นอนาคตของประเทศชาติต่อไป
ครูของไทยควรได้รับการปรับมุมมองต่อการเรียนการสอน ผ่านการฝึกอบรม เรียนรู้เทคนิคกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของนักเรียน และประยุกต์ใช้สื่อการเรียนการสอนและเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ครูเองจะต้องเป็นผู้ที่แสวงหาองค์ความรู้ใหม่ๆ และหมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อนำมาปรับให้เข้ากับกระบวนทัศน์ใหม่ โดยเฉพาะการผสมผสานระหว่างการสอนแบบออนไลน์ และการสอนในชั้นเรียนปกติ
ครูควรต้องได้รับการติดอาวุธให้สามารถมีกระบวนการสอนที่เน้นผลลัพธ์ขั้นสูง (High-impact teaching practices) เช่น การเรียนรู้ด้วยการใช้โครงงานเป็นฐาน อันเป็นกระบวนการที่จะกระตุ้นการมีส่วนร่วมของนักเรียนโดยใช้โครงการเป็นสื่อการเรียนรู้ ฝึกตั้งคำถาม และค้นคว้าบันทึก และหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง แนวทางปฏิบัตินี้ถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนานักเรียนด้วยทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ประเทศไทยต้องเร่งสร้างให้เกิดความได้เปรียบเชิงแข่งขันด้างทรัพยากรมนุษย์ของไทยเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้เติบโต ก้าวหน้า อย่างยั่งยืน
สิ่งเหล่านี้จะเป็นเพียงภาพในอุดมคติ หรือสร้างเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ก็คงเป็นคำถามที่หลายๆคนสงสัย มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียเชื่อว่าเราสามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ เพราะประสบการณ์ในการจัดทำโครงการ ทำให้เราได้เห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม และการยอมรับจากครูที่หลายๆท่านที่เคยได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการพัฒนาวิชาชีพครูมาก่อนหน้านี้ ว่าสามารถช่วยให้ผวกเขาปรับการสอนที่กระตุ้นเด็กนักเรียนของตนให้เกิดความอยากรู้และเริ่มตั้งคำถามมากขึ้น ทั้งยังกระตือรือร้นที่จะมาเข้าเรียน
การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าหรือโควิด-19 ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในทุกภาคส่วน เราจะไม่ยอมให้วิกฤติวันนี้ ทำให้เราสูญสิ้นความหวังในอนาคต ในทางกลับกันเราจะพลิกสถานการณ์นี้มาเป็นโอกาสเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาของไทย และสานฝันให้นักเรียนของเราสามารถเดินทางไปสู่เส้นทางอาชีพในอนาคตข้างหน้าที่ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร
แล้วคุณมีความเห็นอย่างไร?? ต่อการผลักดันการศึกษาให้ไปข้างหน้าภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้