‘COVID-19’ ปฏิรูปการศึกษาทั่วโลก! ใช้เทคโนโลยีเรียนรูปแบบใหม่
“UNESCO” ได้คาดการณ์ว่าขณะนี้มีนักเรียน-นักศึกษากว่า 363 ล้านคนทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากวิกฤต “COVID-19” และประมาณการณ์ว่ามีสถาบันการศึกษาใน 15 ประเทศ ทั้งในภูมิภาคเอเชีย, ตะวันออกกลาง, ยุโรป และอเมริกาเหนือ ได้ปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียน และมหาวิทยาลัย ขณะที่สถาบันการศึกษาในหลายประเทศ นำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เพื่อเปิดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์
“ประเทศจีน” ประเทศแรกที่ประกาศหยุดกิจกรรมการเรียนการสอนที่โรงเรียน และมหาวิทยาลัย ทั้ง “ครู และนักเรียน – นักศึกษา” หันไปเปิดการเรียนการสอนทาง “ออนไลน์”
“สหรัฐอเมริกา” เริ่มปิดโรงเรียน ป้องกันการแพร่ระบาล และมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในสหรัฐอเมริกา เช่น “Harvard” ประกาศจะใช้การเรียนการสอนเสมือนจริง (Virtual Education) ในขณะที่เกิดสถานการณ์ COVID-19 โดยจะเริ่มตั้งแต่ 23 มีนาคมนี้ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัย Princeton, Stanford และอีกหลายมหาวิทยาลันในสหรัฐฯ เตรียมใช้การเรียนการสอนรูปแบบดังกล่าวเช่นกัน เพื่อที่ผู้เรียนสามารถเรียนได้จากทางไกล
ล่าสุดมหาวิทยาลัยในประเทศไทยหลายแห่ง เริ่มออกประกาศการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์
นี่คือ ตัวอย่างเพียงบางส่วนที่แสดงให้เห็นได้ว่า นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ไวรัส “COVID-19” (โควิด-19) หรือ “Coronavirus” (ไวรัสโคโรนา) สร้างผลกระทบในทุกภาคส่วนอย่างรวดเร็ว และรุนแรง หนึ่งในนั้นคือ “ภาคการศึกษา” อย่างไรก็ตามถึงแม้ไวรัส COVID-19 จะส่งผลกระทบให้กับภาคการศึกษา แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งได้สร้างอัตราเร่งในการปฏิรูป “วงการการศึกษา” ทั่วโลกครั้งใหญ่เช่นกัน โดยเฉพาะมิติของการนำ “เทคโนโลยี” มาใช้กับระบบการเรียนการสอนมากขึ้น เพื่อทำให้ภาคการศึกษาทั่วโลกยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างไม่สะดุด และไม่ว่าผู้เรียน ผู้สอนจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถเข้าถึงการศึกษาได้
“COVID-19” ปัจจัยเร่ง “ระบบการศึกษาทั่วโลก” ใช้ “Educational Technology” มากขึ้น
Jeanne Allen ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอของ The Center for Education Reform ได้วิเคราะห์ใน Forbes ว่า เคยมีคำกล่าวที่ว่าทุกๆ ครั้งที่เกิดความท้าทาย ย่อมนำมาซึ่งโอกาสเสมอ เช่นเดียวกับ “วงการการศึกษา” ที่ผ่านมาระบบการศึกษาหลายแห่งได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่มีมายาวนาน แต่ผลจากการเกิดขึ้นของไวรัส Corona หรือ COVID-19 “ภาคการศึกษา” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาแนวทางให้ระบบการศึกษายังคงดำเนินต่อไปได้ การนำ “เทคโนโลยีด้านการศึกษา” หรือ “Educational Technology” มาใช้ในการเรียนการสอน ช่วยให้การนำเสนอเนื้อหาการเรียนการสอนที่มีความน่าสนใจขึ้น และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างนักเรียน และครูได้มากขึ้น แม้ในขณะที่ทุกคนต้องอาศัยภายในที่พักของตนเองในช่วงสถานการณ์ COVID-19 เพื่อให้แน่ใจได้ว่านักเรียน จะไม่พลาดการเรียนรู้ของพวกเขา และช่วยให้เส้นทางการเรียนของนักเรียน สามารถเดินหน้าต่อไปได้
ตัวอย่างเช่น รัฐนิวเจอร์ซีย์ เริ่มพิจารณาการออกกฎหมายให้สถาบันการศึกษาสามารถใช้เทคโนโลยี “Virtual Education” ในการเรียนการสอนได้ เวลาเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น กรณีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19แต่ทั้งนี้ ผู้ก่อตั้งของ The Center for Education Reform ก็ได้ตั้งคำถามว่า แล้วทำไมนำเทคโนโลยีกับการศึกษามาใช้เฉพาะในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ?!
เพราะในการสร้างคุณภาพมาตรฐานทางการศึกษาใหม่ โลกของ “Educational Technology” หรือ “EdTech” ช่วยให้เร็วขึ้น ฉลาดขึ้น และสามารถนำเสนอรูปแบบการเรียนการสอนได้อย่าง Personalization กว่าการเรียนในห้องเรียน
ดังเช่นกรณีศึกษาของ “Northshore School District” ที่มีโรงเรียน 33 แห่ง ได้ออกแบบการเรียนการสอนให้อยู่บนระบบ Cloud และใช้ออนไลน์เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน เพื่อสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านดิจิทัล, การคิดวิเคราะห์, การแก้ปัญหา, การสร้างความร่วมมือ, ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งการเรียนผ่านระบบ Cloud ทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง และออกจากกรอบของการเรียนรู้ที่จำกัดเฉพาะในห้องเรียนสี่เหลี่ยม
“มีแอปพลิชันเกี่ยวกับการศึกษา และมีเทคโนโลยี AR, VR และ AI ในการตอบโจทย์ด้านการศึกษาให้กับผู้เรียนได้ เราไม่จำเป็นต้องให้เกิดวิกฤต แล้วถึงจะ “คิดใหม่” ในระบบการศึกษา แต่เทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนบทบาทครูผู้สอน จากที่เคยเป็นผู้ชี้นำ ไปสู่การเป็นผู้สนับสนุน และให้คำแนะนำแก่ผู้เรียน โดยหวังว่าสถานการณ์ COVID-19 จะเป็นกระจกสะท้อนว่านวัตกรรม และเทคโนโลยีสามารถช่วยให้นักเรียน-นักศึกษา และสถาบันการศึกษาต่างๆ ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ และต่อไปจะเห็นการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านการศึกษาเป็นเรื่องปกติของระบบการศึกษา”
ใช้แพลตฟอร์มเทคโนโลยีของ “Tech Company” สร้าง “ห้องเรียนออนไลน์” อยู่ที่ไหนก็เรียนได้!
ปรากฏการณ์หนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนท่ามกลางสถานการณ์ “COVID-19” คือ แพลตฟอร์มเทคโนโลยีของ Tech Company ถูกนำมาใช้กับการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ บวกกับปัจจุบันคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาในระดับ 4G และบางประเทศไปถึง 5G แล้ว ทำให้การเรียนการสอนผ่านออนไลน์ สะดวก และรวดเร็วขึ้น เช่น
“DingTalk” แพลตฟอร์มเพื่อการสื่อสาร และการทำงานในองค์กร อีกหนึ่งบริการในเครือ Alibaba ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับระบบการเรียนการสอนออนไลน์ในประเทศจีน โดยช่วงที่มีวิกฤต COVID-19 มีนักเรียน-นักศึกษากว่า 50 ล้านคน ได้เข้าร่วมโครงการห้องเรียนออนไลน์ ที่เปิดให้อาจารย์กว่า 600,000 คนเปิดสอนวิชาต่างๆ ผ่านระบบ Live Streaming
“Tencent” ใช้ Tencent Live Broadcast เพื่อตอบความต้องการด้านการศึกษาผ่านออนไลน์ในจีน ในระหว่าง COVID-19 ระบาด เช่นที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งข้อมูลเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบว่าบนระบบ Live Streaming ของ Tencent มีนักเรียนชั้นประถม และมัธยมต้นในเมืองอู่ฮั่นมากถึง 81% หรือกว่า 730,000 คน จากจำนวนนักเรียนชั้นประถม และมัธยมต้นในอู่ฮั่นทั้งหมดกว่า 900,000 คน เรียนผ่านออนไลน์ผ่าน Tencent Live Streaming
“Google Hangout Meet” เทคโนโลยีการประชุมทางออนไลน์ รองรับการประชุมได้หลายคน รวมทั้งยังสามารถ Live Streaming รองรับผู้ชมได้จำนวนมาก และบันทึกการประชุมไว้บน Google Drive
“Google Classroom” เครื่องมือช่วยการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การแจกจ่ายงาน หรือเอกสารให้กับนักเรียน หรือเพื่อนในกลุ่ม หรือส่งความคิดเห็นถึงครูผู้สอน
ปรากฏว่าในช่วง COVID-19 โรงเรียน และมหาวิทยาลัยต่างๆ หันมาใช้สองโปรดักต์นี้ของ Google เพื่อสร้างความสะดวกในการเรียนการสอนนอกห้องเรียน
มหาวิทยาลัยในไทย เตรียมดำเนินการสอนผ่านออนไลน์
สำหรับความเคลื่อนไหวของภาคการศึกษาในประเทศไทย “กระทรวงศึกษาธิการ” ได้แจ้งให้โรงเรียนในสังกัดกระทรวงฯ เฝ้าระวัง – ป้องกัน และในกรณีที่โรงเรียนดำเนินการสอบปลายภาคเสร็จสิ้นแล้ว ให้สถานศึกษาประกาศปิดภาคเรียน และควรงดการจัดกิจกรรมใดๆ
ขณะที่ “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” (อว.) ได้ประกาศขอความร่วมมือสถาบันการศึกษาที่อยู่ในสังกัดของ อว. ใน 6 เรื่อง ดังนี้
1.ลดค่าเช่าพื้นที่ผู้ประกอบการรายย่อย ในมหาวิทยาลัย ตามความเหมาะสม
2.ลดค่าธรรมเนียมนักศึกษา ในภาคการศึกษาที่จะถึงนี้เป็นกรณีพิเศษ
3.ลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่เร่งด่วน เพื่อนำไปเพิ่มการจ้างงานนักศึกษาและบุคลากรทั่วไป ตามความเหมาะสม
4.เตรียมจัดการเรียนและการสอนผ่านระบบออนไลน์
5.ลดค่าบริการต่างๆที่เรียกเก็บจาก SMEs, Start up และประชาชนทั่วไปในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยและอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย และเมืองนวัตกรรมอาหาร เป็นกรณีพิเศษ
6.หน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษา พิจารณากำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพิ่มเติมตามความเหมาะสม
ส่วนความเคลื่อนไหวของมหาวิทยาลัยไทย ล่าสุดเริ่มมีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ประกาศการเรียนการสอนผ่านออนไลน์แล้ว
จากสถานการณ์ COVID-19 ถือเป็น “จุดเปลี่ยน” ครั้งใหญ่ของ “วงการการศึกษา” ทั่วโลกในทุกระดับชั้นเรียน ในการนำ “เทคโนโลยี” มาใช้กับการเรียนการสอน รวมไปถึงการสอบ ซึ่งจะทำให้ทั้ง “ผู้สอน” และ “ผู้เรียน” คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีกับการศึกษา
ไม่แน่ว่าต่อไปวงการการศึกษาทั่วโลก อาจมีการนำ “เทคโนโลยีด้านการศึกษา” หรือ “Educational Technology” (EdTech) มาใช้มากขึ้น จนกลายเป็น New Normal ของภาคการศึกษาทั่วโลกก็เป็นได้