การจดจำของสมองและวิธีการเรียนรู้
ศักยภาพของสมอง อวัยวะมหัศจรรย์
ถึงแม้ว่า สมองจะถูกเข้าใจว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่สุดในร่างกายมนุษย์มานานแล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งเริ่มเข้าใจความมหัศจรรย์ของสมองมนุษย์อย่างลึกซึ้งเมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ 20 นี้เอง และสามารถให้คำอธิบายอย่างละเอียดว่า สมองมนุษย์ที่น่าทึ่งนี้มีการทำงานอย่างไร
สมองมีการจัดระบบการทำงานที่ซับซ้อน และมีความยืดหยุ่นในการพัฒนาปรับเปลี่ยนตัวเองได้ดีไม่น้อยไปกว่าอวัยวะใดๆ ในร่างกาย วันนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจของการทำงานของสมองกันค่ะ
ออกแบบเพื่อ “การเรียนรู้”
สมองถูกออกแบบมาเพื่อการเรียนรู้ เพื่อ “ความอยู่รอด” เป็นสำคัญ
เด็กเล็กๆ เริ่มเรียนรู้ที่จะร้องไห้ ยิ้ม หัวเราะ กินอาหาร คลาน นั่ง เดิน พูด และทำกิจกรรมต่างๆ เป็นผลจากการที่สมองรับรู้ เรียนรู้ พัฒนาและเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อจะมีชีวิตรอด
พัฒนาผ่าน “การเรียนรู้”
สมองพัฒนาศักยภาพในการคิด ความจำ ผ่านกระบวนการที่เรียนว่า “การเรียนรู้” ซึ่งจะดำเนินไปตามกำหนด “เวลา” ที่เหมาะสม เราจึงให้ความสำคัญกับ “พัฒนาการตามช่วงวัย”
โครงสร้างและเครือข่ายในสมอง
สมองประกอบด้วยเซลล์
สมองมนุษย์ประกอบด้วยเซลล์จำนวนมหาศาล เด็กแรกเกิดมีเซลล์สมองประมาณหนึ่งแสนล้านเซลล์ (เมื่อเทียบกับ ลิงมีหนึ่งหมื่นล้านเซลล์ หนูมีห้าล้านเซลล์ และแมลงหวี่มีหนึ่งแสนเซลล์) เชื่อมต่อกันด้วยแขนงที่ยื่นออกจากตัวเซลล์ โยงใยเป็นเครือข่ายร่างแหของวงจรขนาดมหึมา
เครือข่ายเซลล์สมอง
สมองประกอบด้วยเครือข่ายเซลล์สมองที่เชื่อมโยงกัน ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการเรียนรู้ มีรายงานผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า เด็กอนุบาลสามารถเรียนรู้ภาษาพร้อมกันได้ถึง 7 ภาษา
นักวิทยาศาสตร์ให้ข้อสังเกตว่า เด็กมีศักยภาพที่จะพูดได้กว่า 5,000 ภาษาเท่าที่มีอยู่ในโลก แต่ความสามารถนี้จะค่อยๆ หมดไป เมื่อเด็กไม่ได้นำมาใช้
เชื่อมโยงซับซ้อน หลายรูปแบบ และปรับเปลี่ยนได้
เมื่อเราอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ เซลล์สมองจะสร้างการเชื่อมโยงที่ซับซ้อน จนเกิดเป็นร่างแหเครือข่ายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจำนวนเซลล์อาจไม่สำคัญเท่ากับการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ตลอดเวลาที่เรามีชีวิตอยู่ ความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนนี้เองที่ทำให้สมองมนุษย์สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
สมองซีกซ้าย – สมองซีกขวา สอดประสานกันเป็นองค์รวม
สมองซีกซ้าย โดดเด่นในการเรียนรู้และทำความเข้าใจภาษา เหตุผล รายละเอียด
สมองซีกขวา โดดเด่นในการเรียนรู้และทำความเข้าใจมิติ ความรู้สึก ภาพรวม
สมองสองซีกทำงานประสานกันแบบองค์รวม ผ่านใยประสาทที่พาดผ่านจากซีกหนึ่งไปยังอีกซีกหนึ่ง เราเรียกกลุ่มใยประสาทนี้ว่า คอร์ปัส แคลโลซัม การผสานการรับรู้และมุมมองของสมองทั้งสองซึก ทำให้เห็นภาพและเข้าใจความหมายของสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน
กระบวนการเรียนรู้ในสมอง
นาทีแห่งการเรียนรู้ เมื่อได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก เซลล์สมองจะส่งสัญญาณข้อมูลในรูปกระแสไฟฟ้าไปตามแขนงใยประสาทที่เรียกว่า แอกซอน ส่งต่อให้แขนงใยประสาทที่ทำหน้าที่รับข้อมูลที่เรียกว่า เดนไดรท์ของอีกเซลล์หนึ่ง
จุดที่เชื่อมต่อกันของแอกซอน และเดนไดรท์ จะมีการแปลงข้อมูลในรูปสัญญาณไฟฟ้าเป็นสารเคมีที่เรียกว่า สารสื่อประสาท เราเรียกจุดเชื่อมต่อในการรับส่งสัญญาณข้อมูลนี้ว่า จุดซีนแนปส์ “นาทีแห่งการเรียนรู้” เริ่มขึ้น ณ จุดนี้
อารมณ์มีผลต่อกระบวนการเรียนรู้
อารมณ์ทำให้การรับรู้บิดผันไป เช่น อาจมองเห็นกระดุม เป็นเหรียญ ขนม หรืออื่นๆ ไม่ใช่กระดุม
อารมณ์มีอิทธิพลต่อความสนใจและความตั้งใจ โดยอาจจะกระตุ้นหรือยับยั้งทำให้ความสนใจและความตั้งใจในการเรียนรู้เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ข้อมูลที่น่าเบื่อ ไม่น่าสนใจ ไม่มีความหมายต่อตนเอง หรือสมองไม่เข้าใจความสัมพันธ์ของข้อมูล สมองส่วนที่ทำหน้าที่ส่วนสัญชาตญาณจะเตือนว่า “เลิกคิดได้แล้ว” เสียเวลา เสียพลังงานสมอง
อารมณ์มีอิทธิพลต่อการคิด เช่น ในสถานการณ์ทำให้เกิดความกลัว กระบวนการคิดจะมีประสิทธิภาพน้อยลง
อารมณ์มีอิทธิพลต่อความจำ การผ่านพบสรรพสิ่งหรือเหตุการณ์ที่มีอารมณ์ประทับอยู่ด้วยจะกลายเป็นความทรงจำที่แจ่มชัดยืนนานอย่างยิ่ง
อารมณ์เปลี่ยนแปลงได้ด้วยการเรียนรู้ สมองส่วนอารมณ์สามารถเรียนรู้และปรับเปลี่ยนได้ เมื่อมีการบันทึกการตอบสนองอย่างใหม่ต่อสิ่งที่กระตุ้นเร้าลงในสมองส่วนอารมณ์ อารมณ์และความรู้สึกต่อสิ่งต่างๆ อาจแตกต่างและเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ เช่น เคยเกลียดภาษาอังกฤษ เพราะอายและเสียใจที่ถูกครูดุ แต่เมื่อได้เรียนกับครูที่ใจดี กลับเปลี่ยนเป็นชอบภาษาอังกฤษ
การเรียนรู้ที่สมองสนใจ
ตอบสนองทันที สมองสามารถรับรู้ระดับความสำเร็จของตนเองได้ “ทันที” ที่ลงมือทำ
ตอบสนองชัดเจน สมองไม่ต้องตีความความสำเร็จจากการตอบสนองที่คลุมเครือ หรือขาดความชัดเจน
ท้าทาย: สมองพอใจความสำเร็จทีละขั้น การไต่ระดับที่สูงขึ้นตามลำดับ คือความท้าทายที่ชวนให้สมองอยากเรียนรู้ต่อไปไม่สิ้นสุด