อิงลิช แก็ง ชวนมาดู… เหตุผลที่การสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยไม่ก้าวหน้ากับเขาเสียที!
อย่างที่ทุก ๆ คนรู้กันดีอยู่แล้ว ว่าการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในบ้านเรานั้นไม่ค่อยมีการพัฒนามากนัก ถึงแม้เราจะเริ่มเรียนกันตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ไปจนถึงในระดับชั้นอุดมศึกษา แต่หลาย ๆ คนก็ยังไม่สามารถพูดคุยสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ปัญหาเหล่านี้เกิดมาจากอะไรกันแน่?
ภาพจำในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในชั้นเรียนของเด็กไทย มักจะเป็นการเรียนการสอนในรูปแบบของการนั่งเรียนในห้องเรียน (เด็กดีนั่งข้างหน้า เด็กเกเรนั่งข้างหลัง!?) จดคำศัพท์ที่คุณครูเขียนไว้บนกระดานดำ หรือนั่งท่องคำศัพท์ปากเปล่า อ่านภาษาอังกฤษตามคุณครู เปรียบเสมือนหุ่นยนตร์ที่ถูกออกแบบโปรแกรมมาให้ทำตามสิ่งที่ถูกสอนโดยไม่ตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปของสิ่งที่เพิ่งได้เรียนรู้ไป ฟังดูน่าเบื่อใช่ไหมล่ะ… แต่รูปแบบการเรียนที่ได้กล่าวมานี้นั่นแหละ ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของเด็กไทย
เริ่มเรียนหลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษตั้งแต่ยังเด็ก
ขั้นตอนการเรียนภาษาอังกฤษของเด็กไทยนั้นไม่เป็นไปตามหลักธรรมชาติของการเรียนรู้ภาษา เพราะโรงเรียนมักจะเริ่มสอนการเขียนคัดตัวอักษร การท่อง เอ บี ซี และเริ่มเรียนหลักไวยากรณ์ทางภาษาอังกฤษกันตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ซึ่งวิธีการเรียนนี้ทำให้เด็กไทย 95% เกลียดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษไปโดยอัตโนมัติ เนื่องจากเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ยากเกินไปและไม่สมวัยกับพวกเขา การเรียนภาษาอังกฤษในวัยเด็กนั้นควรเป็นอะไรที่น่าสนใจและสนุกสนาน และมีเด็กไทยจำนวนเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่พยายามฝ่าฟันขึ้นมาเพื่อพัฒนาการพูดคุยการสื่อสาร แต่ก็ไม่สามารถสื่อสารได้ด้วยความมั่นใจ 100% เพราะระบบการศึกษาที่วางแผนมาอย่างผิดขั้นตอนไม่เอื้อให้เราสามารถพูดคุยภาษาอังกฤษได้อย่างมั่นใจ
ภาพด้านล่างนี้แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทย ซึ่งการเรียนภาษาอังกฤษแบบเดิม ๆ นั้นมักจะเน้นไปที่แกรมม่าหรือหลักไวยากรณ์โดยไม่คำนึงถึงความมั่นใจในการสนทนาที่จะทำให้เด็กกล้าพูด กล้าสื่อสารกับชาวต่างชาติ
การจัดระบบการเรียนภาษาอังกฤษในลักษณะนี้อาจเนื่องมาจากหลาย ๆ เหตุผล แต่หนึ่งในเหตุผลเหล่านั้นคือคุณครูผู้สอนที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการสอนภาษาอังกฤษอย่างถ่องแท้ และไม่เข้าใจธรรมชาติในการเรียนภาษา การสอนโดยเน้นหลักแกรมม่าไวยากรณ์ หรือการเน้นการท่องจำจึงทำให้สอนเด็กได้ง่ายกว่า แต่สำหรับผลลัพธ์นั้น… จึงเป็นอย่างที่เราเห็นกันชินตาในทุกวันนี้
แล้ว.. ถ้าเรากลับด้านเจ้าสามเหลี่ยมนี้ขึ้นมาล่ะ?
โดยเริ่มจากการสร้างความมั่นใจในการพูดภาษาอังกฤษ โดยไม่สนว่าจะถูกหรือผิด สร้างความมั่นใจให้เด็ก ๆ ได้ลองพูดคุย ลองสื่อสาร ให้กำลังใจเด็ก ๆ ของเรา ขจัดความคิดที่ว่าการออกสำเนียงภาษาอังกฤษเป็นเรื่องตลกน่าขบขัน พยายามสร้างบทเรียนให้ดูสนุกสนาน และค่อย ๆ พัฒนาเน้นไปที่การสนทนาที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
ยกตัวอย่างประโยคง่าย ๆ ที่เราสามารถเริ่มสอนเด็ก ๆ ของเราได้ เช่น
“How are you?”
“I’m happy/sad/fine.”
“What is your favorite color?”
“My favorite color…green.”
ในระยะแรก การที่เด็ก ๆ พูดผิด ไม่ใช่ปัญหา เพราะทุกคนนั้นผ่านการพูดผิดมาด้วยกันทั้งนั้น แต่หากเราเข้าใจ พยายามให้ความรู้ และแก้ไข เด็ก ๆ จะเรียนรู้และซึมซับการพูดที่ถูกต้องตามกาลเวลา จงสนับสนุนให้เด็กได้พูด ได้แสดงออก เพราะการสนับสนุนนี้เป็นการส่งเสริมความมั่นใจให้เด็กกล้าพูดกล้าสนทนามากขึ้น เมื่อเขามีความมั่นใจและกล้าที่จะพูดคุย จึงไม่มีคำว่าสายเกินไปในการสอนแกรมม่าและหลักไวยากรณ์ให้แก่เขา
การเรียนการสอนของอิงลิช แก็ง เราเน้นเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีความมั่นใจในการพูดและการสื่อสาร เพื่อให้สามารถสนทนาได้อย่างแท้จริง จากนั้นจึงต่อยอดด้วยหลักไวยากรณ์และแกรมม่า เพื่อสร้างรูปประโยคที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งเปรียบเสมือนภาพสามเหลี่ยมที่ถูกปรับแล้วอย่างเหมาะสมกับการเรียนรู้ภาษาตามธรรมชาติของมนุษย์
เพราะพื้นฐานการสนทนาต้องเกิดจากความมั่นใจ และเราเข้าใจธรรมชาติของการสื่อสาร เราจึงปูพื้นฐานให้ผู้เรียนมีความกล้าพูด กล้าสนทนาได้อย่างมั่นใจ ซึ่งจะสามารถต่อยอดในการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต และหลักการนี้ยังสามารถนำไปปรับใช้ได้กับการเรียนรู้ในทุก ๆ แขนงอีกด้วย
และด้วยรูปแบบการเรียนการสอนนี้ เราเชื่อว่าเราสามารถพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้ดีขึ้นได้ ไม่เฉพาะแต่กับเด็กไทยเท่านั้น แต่ยังสามารถพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็ก ๆ ทั่วทั้งเอเชียและทั่วโลกได้อีกด้วย มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานี้กันเถอะ!
โรเบิร์ต คาวาดะ
management@englishgang.com