การศึกษาและเทคโนโลยีแห่งอนาคต
เทคโนโลยีและความรู้ใหม่ๆ กำลังเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เปลี่ยนวิธีคิดของเราต่อการเรียนรู้ แล้วเราจะเตรียมเด็กๆ ของเราให้เข้ากับโลกอนาคตที่ไม่หยุดนิ่งและไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ นี้ได้อย่างไร?
แน่ล่ะ ‘การศึกษา’ เป็นรากฐานที่เราต้องวางไว้ให้กับเด็กๆ และการศึกษาในสมัยนี้ก็มีหน้าตาต่างไปจากเมื่อก่อน ยิ่งทุกวันนี้โลกเราเปลี่ยนไปวันต่อวัน การให้การศึกษา ออกแบบห้องเรียน และการจัดการเรียนการสอนจึงไม่อาจเป็นรูปแบบแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป เมื่อโลกเทคโนโลยีกำลังมา ทักษะแบบเดิมๆ ที่เคยอยู่ในหลักสูตรอาจไม่เพียงพออีกต่อไป…
จากที่เราเคยวางผู้เรียนเป็นแค่ฝ่ายรับและเรียนรู้สิ่งต่างๆ แต่ในโลกยุคใหม่ ด้วยพลังของเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้ใครก็ตามสามารถผลิตสร้างผลงานของตัวเองได้ด้วยเพียงคอมพิวเตอร์และโปรแกรมในมือ ดังนั้นนักเรียนในโลกของการสร้างสรรค์จึงจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับ (passive) เป็นผู้สร้าง (active) ในทุกวันนี้ เรามีนักสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างผลงานอันน่าตื่นเต้นจากโทรศัพท์มือถือ จากโปรแกรมที่บ้านไหนๆ ก็มี และคาดกันว่าในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติมาถึง การสร้างสรรค์และการผลิตผลงานจะเป็นสิ่งที่ไร้ขีดจำกัด ดังนั้นนักเรียนและการให้การศึกษาในโลกสมัยใหม่จึงการกลายเป็นผู้ผลิตไม่ใช่แค่นั่งเฉยๆ แล้วรับการเรียนแบบนิ่งๆ การศึกษาคือการสร้างมนุษย์ ไม่ใช่สร้างหุ่นยนต์ ยิ่งต่อไปเรากำลังก้าวสู่ยุคเทคโนโลยี ทักษะอ่อน (soft skill) ทักษะแบบมนุษย์ที่พ้นไปจากเรื่องการงาน เช่น ความเข้าใจและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน จึงเป็นสิ่งที่โลกแห่งการทำงานกำลังต้องการ ดังนั้นประเด็นเรื่องความรู้สึกนึกคิด ความเข้าใจผู้อื่น โดยสรุปคือการส่งเสริมความเป็นมนุษย์ เพิ่มเติมความเข้าอกเข้าใจทั้งตนเองและผู้อื่น จึงเป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญของคนในยุคแห่ง AI เรามักชินกับความสำเร็จส่วนบุคคล เชิดชูความอัจฉริยะของเด็กคนใดคนหนึ่ง แต่จริงๆ แล้ว เราต่างเข้าใจว่าโลกของความสำเร็จและการทำงาน การแก้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นได้จากการร่วมมือกัน ยิ่งในโลกทุกวันนี้เทคโนโลยีกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยเชื่อมโยงและแก้ปัญหาต่างๆ เช่นการทำงานร่วมกับคนอื่นผ่านแพลตฟอร์มของกูเกิล ดังนั้นห้องเรียนในอนาคตจึงจะเน้นทั้งแนวคิดของการใช้เครื่องมือยุคใหม่เพื่อทลายข้อจำกัดด้านเวลา สถานที่ ไปจนถึงกลุ่มคน เพื่อให้ทุกคนสามารถสื่อสาร เชื่อมโยง และเรียนรู้ร่วมกันได้ การให้การศึกษาไม่ใช่แค่ภาระของโรงเรียนหรือครูอาจารย์ แต่เป็นหน้าที่ที่ทั้งครอบครัวและชุมชนต้องร่วมกันส่งเสริมพัฒนาการของเด็กๆ ให้รอบด้าน การที่ใครก็ตามต่างสามารถมีส่วนรับผิดชอบและสอดส่องว่าเด็กคนนี้มีความต้องการความช่วยเหลือหรือส่งเสริมพัฒนาอะไรเป็นพิเศษหรือไม่นั้น เป็นกระแสที่ปรับจากความเชื่อเรื่องการให้การศึกษาแบบเดิมๆ มาเป็นการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กๆ ไม่ว่าเด็กจะอยู่ที่ไหน เด็กๆ มีลักษณะพิเศษ มีความสามารถเฉพาะบุคคล ปัญหาของการเรียนรู้แบบเดิมๆ คือการตั้งมาตรฐานแบบเดียวขึ้นมาและใช้กับเด็กทุกคน นักการศึกษาสมัยใหม่เห็นว่าความแตกต่างของเด็กๆ ต้องการการรูปแบบการเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจงมากกว่า เพื่อพัฒนาจุดแข็งและลักษณะเฉพาะนั้นๆ ของเด็กแต่ละคน โรงเรียนของไทยมีลักษณะที่เป็นแบบแผน มีครูมายืนหน้าชั้นและพูดให้เด็กฟังฝ่ายเดียว ห้องเรียนในโลกสมัยใหม่จึงควรถูกคิดและออกแบบใหม่ไปสู่ห้องเรียนที่ยืดหยุ่น เป็นห้องเรียนที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ จับกลุ่ม เปลี่ยนกลุ่ม ล้อมวงเพื่อปรับรูปแบบการเรียนรู้จากกันและกันได้อย่างอิสระ เป็นห้องเรียนที่ทันสมัยทั้งในด้านความคิดและพร้อมด้วยอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีต่างๆ