วัยใดเหมาะสำหรับการเริ่มเรียนภาษาต่างประเทศมากที่สุด Ep.1

ในเช้าอันวุ่นวายที่โรงเรียนเตรียมอนุบาล Spanish Nursery ที่เปิดสอนหลักสูตรสองภาษาในย่านตอนเหนือของกรุงลอนดอน บรรดาผู้ปกครองต่างพาลูกหลานมาส่งที่โรงเรียน ขณะที่เหล่าคุณครูต่างกล่าวทักทายเด็ก ๆ ด้วยน้ำเสียงที่แจ่มใสว่า Buenos días! หรือสวัสดีตอนเช้าในภาษาสเปนที่สนามเด็กเล่น เด็กหญิงตัวน้อยร้องขอให้คุณครูช่วยถักผมเปียเป็นภาษาสเปน ก่อนที่จะหันไปโยนลูกบอลให้เพื่อนร่วมชั้นพร้อมกับจะโกนบอกให้เพื่อนรับบอลลูกนั้นเป็นภาษาอังกฤษ

วัยใดเหมาะสำหรับการเริ่มเรียนภาษาต่างประเทศมากที่สุด

นักโทษคดีฆาตกรรมเรียนไม่จบมัธยมปลาย แก้ปัญหาคณิตศาสตร์ขั้นสูงได้ในเรือนจำ 

เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นอัจฉริยะ?

เคล็ดลับอ่านหนังสือเร็ว 100,000 คำภายใน 5 นาที ทำได้จริงหรือหลอกลวง ?

“ในวัยนี้ เด็ก ๆ ไม่ได้เรียนภาษา แต่พวกเขาซึมซับ ‘รับ’ เอาภาษาเข้าไป” คาร์เมน แรมเพอร์ซาด ผู้อำนวยการโรงเรียนกล่าว ซึ่งมันดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นสำหรับการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศอย่างแทบไม่ต้องใช้ความพยายามของนักเรียนตัวน้อยเหล่านี้

เด็กเล็กเรียนรู้สำเนียงภาษาแม่ได้ดี แต่ทักษะด้านภาษาอื่น ๆ จะพัฒนาไปตามวัยที่มากขึ้น สำหรับเด็กนักเรียนที่นี่ ภาษาสเปน คือภาษาที่ 3 หรือแม้แต่ภาษาที่ 4 พวกเขามีภาษาแม่ที่ต่างกันออกไป อาทิ ภาษาโครเอเชีย ภาษาฮิบรู ภาษาเกาหลี และภาษาดัตช์ หากเปรียบเทียบกับความพยายามอย่างหนักของผู้ใหญ่ในชั้นเรียนภาษาต่างประเทศ นี่อาจเป็นเรื่องง่ายที่จะสรุปว่า วัยเด็กคือช่วงวัยที่ดีที่สุดในการเรียนภาษาต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้เผยให้เห็นภาพที่ซับซ้อนเกี่ยวกับการเรียนภาษาของคนเราที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัยต่าง ๆ และยังเป็นข่าวดีสำหรับผู้เริ่มเรียนภาษาใหม่ในตอนที่อายุได้ล่วงเลยวัยเด็กไปแล้ว พูดง่าย ๆ ก็คือ ช่วงวัยต่าง ๆ กัน ให้ผลดีในการเรียนภาษาที่แตกต่างกันออกไป

ในวัยทารก เรามีความสามารถในการได้ยินเสียงที่ดีกว่า ขณะที่เด็กวัยหัดเดินสามารถเรียนสำเนียงภาษาแม่ได้รวดเร็วอย่างน่าทึ่ง

ส่วนวัยผู้ใหญ่ มีสมาธิในการเรียนนานกว่า และมีทักษะสำคัญ เช่น การอ่านออกเขียนได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเก็บสะสมคำศัพท์ได้มากขึ้น แม้จะเป็นภาษาแม่ของเราเองก็ตาม ส่วนปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากเรื่องอายุในการเรียนภาษา เช่น สภาพแวดล้อมทางสังคม วิธีการสอนของครู หรือแม้แต่ปัจจัยเรื่องความรักและมิตรภาพ ก็สามารถส่งผลต่อการเรียนภาษาได้ด้วยเช่นกัน

ใช้สมองให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ผู้ใหญ่เข้าใจเรื่องกฎเกณฑ์ทางภาษาที่ประดิษฐ์ขึ้นได้ดีกว่า “ไม่ใช่ว่าอะไร ๆ จะแย่ไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น” ศาสตราจารย์ อันโตเนลลา โซเลซ ผู้อำนวยการ Bilingualism Matters Centre ศูนย์ข้อมูลและการวิจัยระบบการเรียนการสอนแบบสองภาษาแห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสกอตแลนด์ กล่าว เธอยกตัวอย่างสิ่งที่เรียกว่า “การเรียนรู้แบบชัดแจ้ง” (explicit learning) ซึ่งหมายถึงการศึกษาในห้องเรียนที่มีครูคอยอธิบายกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งผู้ใหญ่ดูเหมือนจะเรียนได้ดีกว่าเด็กในข้อนี้

“เด็กเล็กทำได้ไม่ดีนักในการเรียนรู้ลักษณะนี้ เพราะพวกเขายังไม่มีความสามารถในการควบคุมด้านความคิด สมาธิ และความจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ” แต่ผู้ใหญ่มีทักษะด้านนี้ดีกว่ามาก

“นี่คือปัจจัยที่ดีขึ้นเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น” ศาสตราจารย์ โซเลซ กล่าว งานวิจัยชิ้นหนึ่งในอิสราเอลพบหลักฐานบ่งชี้ว่า ผู้ใหญ่สามารถทำความเข้าใจกับกฎเกณฑ์ทางภาษาที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ แล้วนำมาใช้กับคำศัพท์ใหม่ ๆ ในห้องเรียนได้ดีกว่า

นักวิทยาศาสตร์ ได้ศึกษาเปรียบเทียบคนวัยต่าง ๆ คือ เด็กอายุ 8 ขวบ เด็กอายุ 12 ปี และผู้ใหญ่ตอนต้น พบว่า กลุ่มผู้ใหญ่ตอนต้นทำคะแนนด้านนี้ได้ดีกว่าเด็กทั้งสองกลุ่ม ส่วนเด็กอายุ 12 ปี ก็ทำได้ดีกว่าเด็กอายุ 8 ขวบ คนที่เริ่มเรียนภาษาใหม่ในตอนโต มักมีความรู้รอบตัวอยู่ก่อนแล้ว และใช้ความรู้เหล่านี้ในการประมวลข้อมูลการเรียนรู้ใหม่ ๆ นี่สอดคล้องกับผลการศึกษาระยะยาวของกลุ่มคนพูด 2 ภาษา คือกาตาลาและสเปน ที่เรียนภาษาอังกฤษจำนวน 2,000 คน ซึ่งพบว่า คนที่เริ่มเรียนตอนโตแล้ว สามารถพูดภาษาใหม่เป็นเร็วกว่าคนที่เริ่มตอนอายุน้อยกว่า

พลังของสมองผู้ใหญ่ตอนต้น

คณะนักวิจัยจากอิสราเอลชี้ว่า อาสาสมัครที่เข้าร่วมการวิจัยของพวกเขาอาจได้ประโยชน์จากทักษะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามอายุที่มากขึ้น เช่น กลยุทธ์ในการแก้ปัญหาที่ยากขึ้น และมีประสบการณ์ด้านภาษาศาสตร์ที่สูงขึ้นหรือจะพูดได้ว่า คนที่เริ่มเรียนภาษาใหม่ในตอนโต มักมีความรู้รอบตัวอยู่ก่อนแล้ว และใช้ความรู้เหล่านี้ในการประมวลข้อมูลการเรียนรู้ใหม่ ๆ ส่วนเรื่องที่คนอายุน้อยทำได้ดีกว่าก็คือ “การเรียนทางอ้อม” นั่นคือ การฟังเจ้าของภาษาพูดแล้วเลียนแบบพวกเขา แต่การเรียนประเภทนี้จะต้องใช้เวลานานอยู่กับเจ้าของภาษา

ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่จะเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ ในปี 2016 ศูนย์ Bilingualism Matters Centre ได้ทำรายงานเรื่องการเรียนภาษาจีนกลางในโรงเรียนประถม และพบว่า การสอนสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงไม่ได้สร้างความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญสำหรับเด็กวัย 5 ขวบ แต่หากเพิ่มเวลาเรียนเข้าไปอีก 30 นาที และได้เรียนกับเจ้าของภาษา ก็จะช่วยให้เด็กสามารถเข้าใจส่วนที่ยากสำหรับผู้ใหญ่ที่เรียนภาษาจีนกลาง เช่น การออกเสียง เป็นต้น