Anita Lieแนะแนวทางอินโดนีเซีย พร้อมรับ New Normal วงการการศึกษา
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์ ปกติใหม่ (New Normal) ขึ้นในหลายวงการ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยมีเป้าหมายเพื่อให้สังคมมนุษย์สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้อย่างปลอดภัย
แน่นอนว่า หนึ่งในภาวะ New Normal ที่เกิดขึ้น ย่อมหมายรวมถึง แวดวงการศึกษาของนานาประเทศทั่วโลกด้วย เนื่องจากเป็นอาวุธที่สำคัญและทรงพลังที่สุดในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของแต่ละประเทศ
Anita Lie ศาสตราจารย์ด้านการศึกษา แห่งมหาวิทยาลัย Widya Mandala Catholic University ใน สุราบายา ของอินโดนีเซีย ได้เขียนบทความแสดงความเห็นเกี่ยวกับ New Normal ที่ต้องเกิดขึ้นในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศอินโดนีเซีย พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เตรียมตัวเตรียมใจรับมือและเผชิญหน้ากับภาวะ New Normal ที่ว่านี้ ในการเปิดภาคเรียนใหม่ในเดือนกรกฎาคม
ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาของอินโดนีเซียรายนี้ได้เขียนบทความแสดงความเห็นของตนผ่านเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The Jakarta Post กระตุ้นให้นักการศึกษาและผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายของประเทศให้เตรียมความพร้อมสำหรับ New Normal ที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียนทั้งหมดกว่า 44 ล้านคนทั่วประเทศที่กำลังจะกลับมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้
ทั้งนี้ Anita Lie กล่าวว่า ใจความหลักสำคัญของภาวะ New Normal ที่จะเกิดขึ้นกับโรงเรียน ซึ่งพอจะคาดเดาได้บ้างจากพระราชกฤษฎีกาที่ทางกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกิจการศาสนา กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุขลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมาก็คือ การเรียนหนังสือในโรงเรียนทุกอย่างจะต้องมีแนวทางที่เป็นไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่สองอย่างเด็ดขาด
แน่นอนว่า บทเรียนจากการปิดโรงเรียนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้บรรดานักการศึกษาของอินโดนีเซียทั่วประเทศ เริ่มตระหนักได้ว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติที่มีต่อการเรียนการสอนที่โรงเรียน ซึ่งในฐานะหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญ Anita Lie กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนแนวคิดและแนวทางปฏิบัติควรไตร่ตรองภายใต้หัวข้อคำถาม ทำไม ใคร อะไร และอย่างไร ของการศึกษา
ทำไมถึงต้องปฎิรูป ใครต้องปฎิรูป ปฎิรูปอะไร และปฎิรูปอย่างไร
ทั้งนี้ เป็นความจริงที่ว่าสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบัน และความเป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดระลอกที่สอง ทำให้การเรียนโรงเรียนตามแบบฉบับที่เคยปฎิบัติกันมาเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การกลับไปเรียนที่โรงเรียนอีกครั้ง จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ เพียงแค่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ เป็นตัวผลักดัน เพื่อเอาชนะความหวาดกลัวจากความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน การปฎิรูปและฟื้นฟูระบบการศึกษา ด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ ยังอาจกลายเป็นอีกหนึ่งวิถีสำคัญในการเปิดประตูแห่งโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมให้แก่เด็กนักเรียนชาวอินโดนีเซียทุกคน เพราะการระบาดทำให้หลายหน่วยงานเริ่มตระหนักถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะชุบชีวิตระบบการศึกษาที่ล้าหลังของอินโดนีเซีย และทำให้เด็กนักเรียนต้องการเข้ามามีส่วนร่วม และมีบทบาทในการปฎิรูปการศึกษามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม Anita Lie แสดงความวิตกกังวลว่า มาตรการกระตุ้นตามแผนของรัฐบาลภายใต้ Indonesia 2045 Vision นี้อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างแท้จริง เพราะไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์ของอินโดนีเซียแม้แต่น้อย โดยเฉพาะ ในเรื่องของความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาของนักเรียนในแต่ละชนชั้นของสังคม และแต่ละในภูมิภาค
ทั้งนี้ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา Anita Lie ได้ให้คำแนะนำถึง หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเปลี่ยนผ่าน (Transform)การเรียนการสอนที่โรงเรียนให้สอดคล้องกับยุค COVID-19 รวมถึง สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้ที่เสมอภาคกันให้แก่เด็กนักเรียนทุกคน โดยคำแนะนำทั้งหมดนี้ อิงกับการตอบคำถามข้างต้น
คือ ทำไม ใคร อะไร และอย่างไร?
สำหรับ สาเหตุที่ว่า ทำไมต้องปฎิรูประบบการศึกษาของอินโดนีเซีย สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 คือตัวกระตุ้นที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า โลกกำลังเปลี่ยนไป และระบบการเรียนการสอนแบบเดิมไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป
คำถามที่ว่า ใคร นี้ หมายถึง บุคคล ได้แก่ ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ที่ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทของตนเองในระบบการศึกษา โดยต้องยอมรับแล้วว่า การระบาดของ COVID-19 ทำให้บทบาทของครู นักเรียน และพ่อแม่ผู้ปกครองเปลี่ยนแปลงไป
กระนั้น บุคคลที่ต้องปรับตัวยกระดับทักษะของตนเองให้มากที่สุด เร็วที่สุดก็คือ คุณครู โดยต้องเปลี่ยนหน้าที่จาก “ผู้สั่งสอน” เป็น “ผู้ออกแบบและอำนวยความสะดวก” ในการเรียนของเด็ก
ครูจำเป็นต้องมีทักษะใหม่ และคุ้นเคยกับการเรียนการสอนในระบบออนไลน์ ซึ้งแม้ว่า จะมีอุปสรรคและข้อจำกัดมากมาย โดยเฉพาะ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในบางพื้นที่ กระนั้น ข้อจำกัดดังกล่าวไม่ใช่ อุปสรรค แต่เป็นความท้าทาย ที่คุณครูต้องหาทางพาตัวเองเข้าไปถึงตัวเด็กนักเรียนให้ได้ เพื่อยกระดับศักยภาพในการสอนของคน
ขณะเดียวกัน ในส่วนของนักเรียน ก็จำเป็นต้องบ่มเพาะทักษะนิสัย “การเรียนรู้ด้วยตนเอง” “ความมีวินัย” และ “ความรับผิดชอบ” ในขณะที่ พ่อแม่ผู้ปกครอง ก็คือผู้ที่มีบทบาทสนับสนุนประคับประคองให้นิสัยเหล่านี้เกิดขึ้น โดยให้ค่าความสำคัญกับลักษณะนิสัยดังกล่าวมากกว่าการทุ่มเทให้กับการเรียนของลูกด้วยการขวนขวายหาชั้นเรียนพิเศษ หรือ ติวเตอร์
ด้านคำถามที่ว่า จะปฎิรูปอะไร Anita Lie มองว่า ที่ต้องลงมือแรกสุดก็คือ ระบบการศึกษา ที่ไม่ใช้ระบบการศึกษาแบบหลักสูตรเดียวอีกต่อไป เพราะระบบดังกล่าวไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง โดยผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านการศึกษา ต่างลงความเห็นตรงกันว่า ไม่มีหลักสูตรหนึ่งหลักสูตรใดที่จะเป็นเหมือนยาครอบจักรวาล คือสามารถใช้ได้กับผู้เรียนทุกคน ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องมีก็คือการแบ่งย่อยหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับทักษะ ความต้องการ และบริบทแวดล้อมของผู้เรียน
การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ จนถึงขั้นต้องปิดโรงเรียนนานร่วมหลายเดือน ทำให้หลายฝ่ายออกมายอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า หลักสูตรการศึกษาที่่จบครบในหลักสูตรเดียวไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำคัญต่อระบบการศึกษาอีกต่อไป เพราะสิ่งที่สำคัญกว่า ก็คือการศึกษา ที่เล็งเห็นและยอมรับ ความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียน รวมถึงการค้นหาความเป็นไปได้ที่จะตอบสนองความต้องการนั้นจากทรัพยากรที่มีอยู่นอกเหนือไปจาก การพึ่งพาคุณครู
อย่างไรก็ตาม Anita Lie เน้นย้ำว่า ครู ยังคงต้องมีบทบาทในชีวิตของนักเรียน ด้วยการเป็นผู้ชี้นำให้เด็กสามารถค้นหาความต้องการในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
ขณะที่คำแนะนำสุดท้าย ภายใต้คำถามว่า จะปฎิรูปอย่างไร ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษามองว่า เป็นเรื่องของการประยุกต์ใช้เครื่องมือ เทคโนโลยี อุปกรณ์ และนวัตกรรม ทั้งหมดที่มี เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการศึกษาที่จะเกิดขึ้น
ถ้าตอบคำถามได้ว่าจะปฎิรูปการศึกษาอะไร และทำไมถึงต้องปฎิรูป แนวทางที่จะปฎิรูปอย่างไร ย่อมสามารถมองเห็นได้ชัดเจน
ทั้งใน ในมุมมองของ Anita Lie มองว่า ภาวะ New Normal ที่เกิดขึ้นของโรงเรียนในอินโดนีเซีย ในภาคการศึกษาใหม่ที่จะมาถึง ต้องเป็นไปแบบผสมผสาน คือ การมาเรียนหนังสือที่โรงเรียนสลับสับเปลี่ยนกับการเรียนหนังสือที่บ้าน และการมาเรียนหนังสือที่โรงเรียน ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีอยู่ เพราะการเรียนด้วยการตัดขาดตัวผู้เรียนจากสังคมแวดล้อม เป็นสิ่งที่เอื้อต่อการบ่มเพาะทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียนแม้แต่น้อย