เรียนออนไลน์การศึกษาไทยสิ่งที่เปลี่ยนไปในชั่วข้ามคืน

เรียนออนไลน์ การศึกษาไทยสิ่งที่เปลี่ยนไปในชั่วข้ามคืน

เมื่อ 1-2 เดือนมานี้เรามีตัวเร่งปฏิกิริยาที่ชื่อว่าโรคระบาดโควิด-19 และโควิด-19 นี้ได้ทำให้ทุกอย่างพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ การค้าการขายที่เปลี่ยนจากหน้าร้านมาสู่การขายแบบออนไลน์ อาหารการกินที่สั่งแบบต่อหน้ากลายเป็นการสั่งอาหารแบบมาส่งถึงหน้าประตูบ้านหรือเดือนเดลิเวอรี่ โดยเฉพาะกับการศึกษาที่เปลี่ยนจากการเรียนในห้องมาเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์แทบจะร้อยเปอร์เซ็น

ทั้งที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั้งหลายได้เตรียมการเรียนการสอนแบบออนไลน์มายาวนานแล้ว ทั้งการเรียนแบบ e-learning การเรียนผ่าน MOOC แพลตฟอร์ม หรือ Massive Open Online Courseware (MOOC) แต่ก็ยังใช้มันสิ่งเหล่านั้นยังไม่เต็มประสิทธิภาพ แต่เมื่อมีตัวเร่งปฏิกิริยาที่ว่า เรากลับใช้สิ่งนั้นได้อย่างดี นั่นแสดงให้เห็นว่าอันที่จริงแล้วเรามีความพร้อม เพียงแต่ยังไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นเอง และเมื่อว่าด้วยการเรียนการสอนแบบออนไลน์เราลองมาดูกันซิว่า เมื่อการเรียนการสอนแบบออนไลน์มา แล้วอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง

 

เรียนออนไลน์การศึกษาไทยสิ่งที่เปลี่ยนไปในชั่วข้ามคืน

 

ไม่มีเด็กหน้าห้อง-หลังห้อง มีแต่ “เด็กหน้าจอ”

เดิมที เด็กที่ตั้งใจเรียนจะนั่งหน้าห้อง ส่วนพวกที่อยู่หลังห้องจะถูกตีตราว่าเป็นเด็กไม่ตั้งใจเรียน แต่ยุคเรียนออนไลน์ทุกคนนั่งอยู่หน้าจอ DLMT หรือ Desktop Laptop Mobile Tablet และเรียนผ่าน การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ผู้เรียนทุกคนเท่าเทียมกัน มิหนำซ้ำกระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นแบบอีซี่ ๆ หรือสบาย ๆ ลดการเผชิญหน้าจริง ผู้เรียนจึงสนใจใคร่ซักถามและกล้าถามมากกว่าการเรียนในห้อง  เพียงแค่พิมพ์ข้อความสอบถามสิ่งที่ตัวเองสงสัยไปกับอาจารย์ผู้สอน

 

ครูไม่ได้เป็นผู้ให้ในแบบเดิม เพิ่มเติมคือต้องเป็น Facilitator และ/หรือ Coaching

นอกจากนี้ ผู้สอนจะไม่ได้เป็นผู้เสนอความรู้เหมือนในห้องเรียนแบบเดิม ๆ  แต่ผู้สอนในโลกที่เปลี่ยนไปนี้จะต้องมีความรู้จริง การเตรียมการสอนแบบปิ้งแผ่นใสแทบจะไม่มีอีกต่อไป เพราะผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ที่ดีกว่า ทันสมัยกว่าได้ตลอดเวลา โดยแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ และที่สำคัญไม่เสียสตางค์ที่ชื่อดังเช่น Khan Academy, YouTube หรือแม้แต่คอร์สเรียนออนไลน์ของ MIT และ Harvard เป็นต้น  หากผู้สอนยังคงทำหรือสอนในรูปแบบเดิมที่คร่ำคร่าและน่าเบื่อ คนที่เรียนด้วยก็จะน้อยลง และหายไปในที่สุด อย่าลืมว่า เป็นการประเมินตัวผู้สอนเองที่ดีที่สุด และก็น่ากลัวที่สุดวิธีหนึ่ง และเมื่อกลัวเด็กหายย้ายไปเรียน sec อื่น หรือกับคนสอนคนอื่น ผู้สอนก็ต้องเร่งถีบตัวเองให้เป็นมากกว่าผู้สอนด้วยการเป็น Facilitator และ/หรือ Coaching ก็คือจะต้องเป็นผู้กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น การกระตุ้นให้เกิดการคิด ซักถาม โต้แย้ง หรืออภิปรายระหว่างผู้เรียนด้วยกันเชิงสร้างสรรค์ระหว่างการเรียน โดยผู้สอนเป็นเพียงผู้นำพาให้ผู้เรียนไปถึงผลลัพธ์ตามที่ออกแบบหรือต้องการเท่านั้น

 

มีดีมีเสีย

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าโควิด-19 จะทำให้อะไร ๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีไปเสียหมด  นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนผู้สอนแล้ว การเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ทำให้เราได้เห็นสิ่งที่เรียกว่าน้ำลดตอผุด นั่นคือ ความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาในบ้านเรา  การเรียนออนไลน์แบบทันสมัยจ๋าอาจไม่ได้ตอบโจทย์โรงเรียนชายขอบนัก จะมีเด็กหรือโรงเรียนสักกี่โรงที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี หรือจะมีเด็กจำนวนสักกี่มากน้อยที่สามารถเข้าถึงการศึกษาทันสมัยแบบเต็มรูปแบบนี้ได้ เพราะขาดโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อินเทอร์เน็ต หรือขาดแคลนอุปกรณ์สำหรับใช้เรียนออนไลน์ พ่อแม่ผู้ปกครองยังคงต้องหาเช้ากินค่ำ ยังคงต้องปลูกผักหาปลา ยังคงต้องเป็นห่วงปากท้อง ทำให้ไม่มีเวลาที่จะศึกษาความล้ำสมัยเหล่านี้ และเมื่อมีช่องว่างก็ยิ่งทำให้สิ่งที่ซุกอยู่ใต้พรมเด่นชัดขึ้น 

 

เมื่อการเรียนการสอนในแบบเดิมถูกทลายด้วยการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ ถึงเวลาที่วงการการศึกษาก็ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งองคาพยพ ทั้งตัวผู้สอน ผู้เรียน สื่อที่ใช้ รวมถึงกระบวนการ  และเชื่อมั่นว่าในอนาคตเราจะต้องขอบคุณตัวเร่งปฏิกิริยานี้ที่ทำให้การศึกษาไทยเปลี่ยนไปแม้เพียงชั่วข้ามคืน และเมื่อโรคระบาดค่อย ๆ ทุเลา หรือหายไปไม่แน่ว่าเราอาจแทบไม่รู้จักกระดานดำอีกแล้วก็ได้ นอกเหนือไปจากนี้ ปัญหาที่เด่นชัดขึ้นก็จะได้รับการเยียวยาแก้ไขให้เป็นรูปธรรมขึ้นด้วยเช่นกัน