5 สิ่งกระตุ้นเด็กเรียนรู้ช้า ให้เรียนภาษาอังกฤษได้อย่างเห็นผล

ในหลาย ๆ ชั้นเรียนในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษมักจะมีเด็กเรียนรู้ช้าอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถเรีนรู้ได้ทันเพื่อน ๆ เด็กเหล่านี้ไม่ได้มีปัญหาทางด้านไอคิวแต่อย่างใด เพียงแต่การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนมักจะใช้เวลาไม่เท่ากัน ซึงคุณพอคุณแม่และคุณครูผู้สอนจะต้องเปลี่ยนวิธีการสอนเสียใหม่ เพื่อให้เข้ากับเด็ก ๆ ที่เรียนรู้ช้ากลุ่มนี้ เพื่อให้ผลการเรียนการสอนออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นค่ะ

การสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่ดี จะช่วยให้เด็กที่เรียนรู้ช้านั้นมีความผ่อนคลายและไม่รู้สึกกดดันมากจนเกินไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ค่ะ มาดูกันดีกว่า ว่าการกระตุ้นให้เด็กที่เรียนรู้ช้าในการเรียนภาษาอังกฤษนั้น ต้องทำอย่างไรกันบ้าง

1. มีความอดทน

คุณพ่อคุณแม่และคุณครูต้องใช้ความอดทนในการสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็ก ๆ ที่เรียนรู้ได้ช้า และไม่พยายามที่จะกดดันเขามากจนเกินไป เพราะหากเด็ก ๆ รู้สึกกดดัน จะทำให้เขาเริ่มต่อต้านและไม่อยากเรียนภาษาอังกฤษได้ และการสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กที่เรียนรู้ช้าจะต้องอาศัยความเข้าใจในตัวเขาให้ได้มากที่สุดค่ะ

อีกหนึ่งหนทางในการสอนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กที่เรียนรู้ช้านั้นก็คือการพยายามจัดการเรียนการสอนให้สนุกและสร้างสรรค์ที่สุดค่ะ เน้นความง่ายของหลักสูตร แต่ครอบคลุมทุกสิ่งที่เด็กควรจะรู้ เพียงเท่านี้ เด็ก ๆ ก็จะสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วล่ะค่ะ

2. ให้การบ้านให้น้อยที่สุด

เราอาจจะเห็นด้วยว่าการให้การบ้านนั้นเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยให้เด็ก ๆ สามารถทบทวนบทเรียนที่ได้เรียนมา แต่สำหรับเด็กที่เรียนรู้ช้านั้น การให้การบ้านให้น้อยที่สุด ถือว่าเป็นการลดความกังวลของเด็กที่เรียนรู้ได้ช้า แต่ก็ยังช่วยให้พวกเขาได้ทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา และการบ้านที่ให้เด็ก ๆ ได้กลับมาทบทวนที่บ้านนั้นก็ไม่ควรยากเกินไปหรืออยู่นอกเหนือบทเรียนที่ทำการสอนไปค่ะ เพราะหากเด็ก ๆ รู้สึกว่ามันยากเกินความสามารถของเขาไป เขาจะรู้สึกเครียดและรู้สึกกดดัน จนทำให้เกิดอาการต่อต้านได้

3. ให้กำลังใจ และสอนอย่างถูกต้อง

กำลังใจถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ สำหรับเด็กที่เรียนรู้ช้า เพราะเด็กเหล่านี้มักจะรู้ว่าตัวเองเรียนรู้ได้ช้า และอาจจะมีความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่และคุณครูควรทำคือการให้กำลังใจ และสนับสนุนให้เขาทำในสิ่งที่เขาชอบหรือถนัด เพื่อดึงเอาความมั่นใจในตัวเขาออกมา นอกจากนี้การสอนภาษาอังกฤษอย่างใจเย็นและพยายามให้เขามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน จะทำให้เขารู้สึกเป็นเด็กที่ปกติ และไม่โดนทิ้งไว้ข้างหลังอีกด้วย

4. ไม่ตีตราเด็กว่าเป็นคนเรียนช้า

ในสังคมไทยบ้านเรา เด็กเรียนช้ามักจะถูกจับแยกมานั่งเดี่ยวที่หน้าชั้นเรียน เหตุผลอาจจะเป็นเพราะเพื่อให้คุณครูสามารถดูแลได้เป็นพิเศษ แต่ในทางกลับกันเด็กจะรู้สึกว่าเขาเป็นเด็กที่แปลกแยกจากคนอื่น และเด็กคนอื่นก็จะมองว่าเด็กคนนี้เรียนรู้ช้า ทำให้รู้สึกถูกตีตรา และสูญเสียความมั่นใจได้ หากต้องการดูแลเด็กเป็นพิเศษควรหาวิธีการอื่นที่ไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกจากคนอื่น เช่น เน้นการทำกิจกรรมแบบกลุ่มที่เด็ก ๆ สามารถสนุกร่วมกันได้อย่างไม่ต้องรู้สึกแปลกแยก นัดสอนพิเศษเพิ่มเติมแบบส่วนตัว เป็นต้น

5. ใช้กฎการให้รางวัลเมื่อเด็กทำได้ดี

การให้รางวัลถือเป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาการเรียนรู้อีกหนึ่งวิธีที่สามารถใช้ได้อย่างเห็นผล หากเด็กสามารถทำอะไรได้ดีในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูก็สามารถให้รางวัลเล็ก ๆ หรืออาจจะกำหนดกติกาการสะสมแต้มไว้ หากได้แต้มตามจำนวนที่กำหนด ก็จะมีรางวัลใหญ่มามอบให้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องพิจารณาอย่างเหมาะสม และไม่ควรใช้กฎการให้รางวัลนี้มากจนเกินไปจนทำให้เด็กพยายามที่จะทำความดีเพื่อหวังสิ่งตอบแทน

การกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้ช้าสามารถเรียนภาษาอังกฤษได้อย่างเห็นผลนั้นไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากไปเสียทีเดียวค่ะ English Gang ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ และคุณครูทุก ๆ ท่าน ในการช่วยส่งเสริมและมอบความรู้ภาษาอังกฤษให้กับเด็ก ๆ เหล่านี้ ความอดทนและความเข้าใจ จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่และคุณครูเข้าใจในความเป็นตัวเขามากขึ้น และเมื่อเด็กมีความมั่นใจและไม่รู้สึกแปลกแยก เด็ก ๆ จะดึงศักยภาพของตัวเองออกมาได้เต็มที่ค่ะ